พลิกประวัติ มิดเดิ้ลสโบรช์ สิงห์แดงแห่งนอร์ทยอร์คเชียร์

พลิกประวัติ มิดเดิ้ลสโบรช์ สิงห์แดงแห่งนอร์ทยอร์คเชียร์

สโมสรฟุตบอลมิดเดิ้ลสโบรช์ (Middlesbrough Football Club) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม มิดเดิ้ลสโบรช์ คือทีมฟุตบอลอาชีพที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน เมืองมิดเดิ้ลสโบรช์ มณฑลนอร์ทยอร์คเชียร์ ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันพวกเขาลงเตะอยู่ใน อีเอฟแอล แชมเปี้ยนชิพ หรือลีกลำดับที่ 2 ของวงการลูกหนังอังกฤษ ทีมเจ้าของฉายา “เดอะ โบโร่” (The Boro) หรือที่ในบ้านเราเรียกกันว่า “สิงห์แดง” ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1876 และย้ายเข้ามาปักหลักอยู่ในสนามเหย้า ริเวอร์ไซด์ สเตเดี้ยม ตั้งแต่ปี 1995 ที่ล่าสุดสามารถรองรับความจุ 34,000 ที่นั่ง จากจุดเริ่มต้นพวกเขาเคยใช้ ลินธอร์ป โร้ด กราวนด์ เป็นบ้านหลังแรกระหว่างปี 1882 ถึง 1903 ก่อนจะย้ายเข้าสู่ อายร์ซัม ปาร์ค และอาศัยอยู่ที่นั่นยาวนาน 92 ปีนับตั้งแต่ปี 1903 ถึง 1995

มิดเดิ้ลสโบรช์ ยังเป็นทีมที่ได้ร่วมเปิดตัว พรีเมียร์ลีก ในปี 1992

มิดเดิ้ลสโบรช์ ยังเป็นทีมที่ได้ร่วมเปิดตัว พรีเมียร์ลีก ในปี 1992 และยังกลายเป็นทีมแรกที่ร่วงตกชั้นลงไปในช่วงท้ายฤดูกาล 1992-93 โดยที่ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 1986 พวกเขาเคยเผชิญหน้ากับสภาวะวิกฤติทางด้านการเงินที่ร้ายแรงจนเกือบถึงขั้นยุบสโมสรมาแล้ว ก่อนจะเอาตัวรอดมาได้โดยกลุ่มกิจการค้าร่วมที่นำโดย สตีฟ กิ๊บสัน ผู้ที่ยังก้าวขึ้นมาเป็นประธานสโมสรในภายหลัง เดอะ โบโร่ เคยคว้าแชมป์ ลีก คัพ ในปี 2004 ที่ยังเป็นโทรฟี่ระดับเมเจอร์ใบแรกและใบเดียวจวบจนทุกวันนี้ พวกเขาเคยผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า คัพ 2006 ก่อนจะพ่ายให้กับ เซบีย่า ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในช่วงเวลา 11 ปีที่พวกเขายืนหยัดอยู่ใน พรีเมียร์ลีก ได้อย่างต่อเนื่อง โดยสถิติในลีกที่ดีที่สุดของทีมคือการจบด้วยอันดับที่ 3 ในฤดูกาล 1913-14 มิดเดิ้ลสโบรช์ ยังเป็นสโมสรฟุตบอลรายแรกของโลกที่เปิดตัวช่องโทรทัศน์เป็นของตนเอง (โบโร่ ทีวี) โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรกหลังจากทะลุเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศบอลถ้วยรายการใหญ่เมื่อปี 1997 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีเต็มก่อนหน้าที่ แมนฯ ยูไนเต็ด จะเริ่มเผยแพร่ MUTV ออกสู่สาธารณชนพร้อมกับอ้างว่าตนเองคือเจ้าแรกของโลก

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1876 – เฉกเช่นเดียวกับสโมสรฟุตบอลอื่นๆในยุคบุกเบิก Middlesbrough F.C. ถือกำเนิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มสมาชิกนักคริกเก็ตที่ต้องการรักษาความฟิตให้ยังคงอยู่ตลอดช่วงหน้าหนาว

1889 – พวกเขารักษาสถานะในการเป็นทีมสมัครเล่นมาได้นาน 10 กว่าปี จนกระทั่งสมาชิกบางส่วนได้แยกตัวออกไปด้วยปัญหาความขัดแย้งเพื่อไปก่อตั้ง Middlesbrough Ironopolis F.C. ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะขยับสถานะขึ้นมาเป็นทีมระดับอาชีพภายในช่วงเวลาห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ระหว่างเดือนธันวาคมปีนั้น

1892 – ผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่ายต่างพยายามหันหน้าเข้าหากันเพื่อเพิ่มโอกาสในการสมัครเข้าร่วมแข่งขันในฟุตบอลลีกภายใต้ชื่อ Middlesbrough and Ironopolis F.C. แต่หลังจากถูกปฏิเสธคำขอไปก็ทำให้ทั้งคู่แยกทางกันอีกครั้ง โดยที่ มิดเดิ้ลสโบรช์ เลือกที่จะกลับคืนสถานะเป็นทีมสมัครเล่น

1895 – ทีมคว้าแชมป์ FA Amateur Cup ซึ่งเป็นรายการชิงแชมป์ระดับสมัครเล่นที่ถูกจัดขึ้นโดย เอฟเอ

ทีมคว้าแชมป์ FA Amateur Cup ซึ่งเป็นรายการชิงแชมป์ระดับสมัครเล่น

1898 – พวกเขาสามารถคว้าแชมป์รายการเดิมได้เป็นหนที่สอง

1899 – หลังจากประสบความสำเร็จมากมายใน นอร์ทเทิร์น ลีก สโมสรตัดสินใจเทิร์นโปรอีกครั้งด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเข้าร่วมแข่งขันในฟุตบอลลีกอย่างเต็มตัว ซึ่งหลังจากได้รับการหนุนหลังโดยทีมเพื่อนบ้าน นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด และ ซันเดอร์แลนด์ ก็ทำให้พวกเขาได้รับการอนุมัติให้เริ่มออกสตาร์ทใน ดิวิชั่น 2 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ก่อนจะจอดป้ายในฤดูกาลเปิดตัวด้วยอันดับที่ 14 จากทั้งหมด 18 ทีม โดยที่เก็บชัยชนะในเกมนอกบ้านไม่ได้เลยซักครั้ง

1902 – และแล้วภายในปีที่ 3 หลังจากเข้าร่วมฟุตบอลลีก เดอะ โบโร่ ก็สามารถขยับขึ้นสู่ลีกสูงสุดของประเทศด้วยการคว้าอันดับที่ 2 รองจาก เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน

1903 – ทีมเปิดตัวใน ดิวิชั่น 1 ด้วยการจอดป้ายในอันดับที่ 13 ท่ามกลางซีซั่นที่พวกเขาเริ่มขยับเข้ามาอาศัยอยู่ใน อายร์ซัม ปาร์ค บ้านหลังแห่งใหม่ที่อยู่ถัดออกไปไม่ไกลจาก เดอะ พาราไดซ์ กราวนด์ สนามเหย้าเดิมของ Ironopolis

1906 – พวกเขารอดพ้นจากการตกชั้นไปแบบหวุดหวิดจากการจบซีซั่น 1905-06 ในอันดับที่ 18 เนื่องจากในฤดูกาลนั้นเป็นปีแรกที่ ดิวิชั่น 1 เพิ่มจำนวนจาก 18 เป็น 20 ทีม

1908 – เดอะ โบโร่ กลับมาทำผลงานได้ดีขึ้นในฤดูกาล 1907-08 จากการคว้าอันดับที่ 6 และกลายเป็นสถิติที่ดีที่สุดของสโมสรภายในช่วงเวลานั้น

1910 – เกิดเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลขึ้นหลังจากทีมสามารถเอาชนะ ซันเดอร์แลนด์ 1-0 เมื่อ แอนดี้ วอล์คเกอร์ กุนซือของทีมในขณะนั้นถูกเปิดโปงว่า ดันไปติดสินบนให้กับผู้เล่นทีมคู่แข่งร่วมเมืองคนละ 2 ปอนด์หากปล่อยให้ทีมของเขาเป็นฝ่ายชนะ สุดท้าย วอล์คเกอร์ ถูกบทลงโทษห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลลีกอย่างไม่มีกำหนด ในขณะที่ทีมจบฤดูกาลนั้นด้วยอันดับที่ 17

1914 – แต่แล้วอีก 4 ปีต่อมา มิดเดิ้ลสโบรช์ ก็สามารถสร้างผลงานในลีกที่ดีที่สุดจวบจนถึงทุกวันนี้ ด้วยการจอดป้ายในอันดับที่ 3 รองจาก แอสตัน วิลล่า และ แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส ทีมแชมป์

1920 – ภายในซีซั่นแรกที่ฟุตบอลลีกเริ่มกลับมาเตะกันอีกครั้ง หลังจากหยุดพักยาวไปตั้งแต่ปี 1915 เนื่องจากผลพวงของ สงครามโลกครั้งที่ 1 ในขณะที่ทีมได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าไปพอสมควรเนื่องจากมีผู้เล่นหลายคนที่เริ่มแพ้สังขารตนเองรวมถึงมีผู้เสียชีวิตจากกการไปรับใช้ชาติอีก 3 ราย แต่พวกเขาก็กลับมาทำผลงานด้วยการลอยตัวอยู่ในพื้นที่กลางตารางหลังจบฤดูกาล 1919-20

1924 – ในที่สุดทีมก็ร่วงตกชั้นลงสู่ ดิวิชั่น 2 จนได้ จากการจมอยู่ในอันดับบ๊วยหลังปิดฉากฤดูกาล 1923-24 และทำแต้มได้น้อยกว่า น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ทีมที่เอาตัวรอดได้ถึง 10 คะแนน

1927 – เดอะ โบโร่ ใช้เวลานาน 3 ปีจึงจะสามารถกลับคืนสู่ ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ พร้อมๆกับการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของ จอร์จ แคมเซลล์ ดาวยิงระดับตำนานของสโมสร ที่ถูกดึงตัวมาจาก เดอรัม ซิตี้ ทีมจาก ดิวิชั่น 3 ในช่วงต้นซีซั่นเพื่อแก้ปัญหาผู้เล่นบาดเจ็บ ซึ่งเจ้าตัวก็ตอบแทนต้นสังกัดใหม่ด้วยการกระหน่ำไปทั้งหมด 59 ประตูภายในซีซั่น 1926-27 อันประกอบไปด้วยการทำแฮตทริกได้ถึง 9 ครั้งที่ทำให้ทีมครองแชมป์ ดิวิชั่น 2 ได้เป็นครั้งแรก

1928 – อย่างไรก็ตามพวกเขากลับมาอยู่ในลีกสูงสุดได้ไม่นาน ก่อนจะร่วงตกชั้นลงไปภายในซีซั่นต่อมาจากการรั้งอยู่อันดับท้ายสุดของตาราง

1929 – แต่ทีมก็ใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวเช่นกันในการเลื่อนชั้นกลับคืนมา หลังสามารถคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 2 ได้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี

1936 – ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ป้วนเปี้ยนอยู่ไม่ไกลจากโซนท้ายตาราง แม้จะทำได้ดีขึ้นเล็กน้อยจากการจบด้วยอันดับที่ 14 ในฤดูกาล 1935-36 แต่นี่ก็เป็นปีสุดท้ายที่ จอร์จ แคมเซลล์ สามารถรั้งตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดประจำทีมได้หลังจากเป็นผู้ที่ยิงประตูให้ทีมได้มากที่สุดตลอด 8 ฤดูกาลที่ผ่านมา

1939 – แต่ในช่วง 3 ฤดูกาลหลังสุดพวกเขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นจนถึงขั้นขยับขึ้นมารั้งอยู่ในอันดับที่ 4 เมื่อซีซั่นก่อน ซึ่งน่าจะมาจากผลงานอันยอดเยี่ยมของ วิลฟ์ แมนเนี่ยน และ จอร์จ ฮาร์ดวิก ที่ย้ายเข้ามาในช่วงเวลานั้นก่อนที่ทั้งคู่จะผงาดขึ้นไปอยู่ในทำเนียบของผู้เล่นทีมชาติอังกฤษ และในขณะที่หลายๆคนมองว่า เดอะ โบโร่ มีโอกาสที่จะได้ลุ้นแชมป์ในฤดูกาล 1939-40 แต่หลังจากเริ่มลงเตะกันไปได้เพียง 3 เกมทุกอย่างก็ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจาก สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มเปิดฉากขึ้น

1947 – หลังสงครามสงบลงและฟุตบอลลีกเริ่มกลับมาฟาดแข้งกันอีกครั้ง พวกเขาก็กลับมาทำได้ดีที่สุดด้วยการจอดป้ายในอันดับที่ 11 ภายในซีซั่น 1946-47

1951 – ผลงานที่ดูดีที่สุดหลังจากผ่านพ้นช่วงสงครามมาก็คือการได้อันดับที่ 6 ในฤดูกาล 1950-51

1954 – แต่แล้วอีก 3 ปีต่อมาพวกเขาก็ทำผลงานร่วงหล่นลงอย่างน่าใจหาย จนกระทั่งตกชั้นลงไปหลังปิดฉากฤดูกาล 1953-54 ด้วยอันดับรองบ๊วย

1957 – แม้ทีมจะจบด้วยอันดับที่ 6 ที่เหมือนจะดูไม่ไกลจากโอกาสเลื่อนชั้นเท่าไรนัก แต่ภายในซีซั่นนั้นก็ยังมีอีกหนึ่งสัญญาณแห่งความหวังจากการแจ้งเกิดของ ไบรอัน คลัฟ อย่างเต็มตัวด้วยการกระหน่ำไปทั้งหมด 40 ประตูหลังจากเปิดตัวกับสโมสรเป็นครั้งแรกในฤดูกาลที่แล้ว

1961 – ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ คลัฟ จะช่วยถล่มประตูให้ทีมได้เป็นกอบเป็นกำ และสามารถเดินตามรอยของ จอร์จ แคมเซลล์ ด้วยการรั้งตำแหน่งดาวซัลโวประจำทีมได้ต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกันที่รวมถึงการยิงได้ทั้งหมด 36 ประตูในฤดูกาล 1960-61 แต่มันก็ยังไม่เพียงพอต่อการช่วยให้ สิงห์แดง เลื่อนชั้นกลับสู่ ดิวิชั่น 1 จนทำให้เขาตัดสินใจอำลาทีมไปอยู่กับ ซันเดอร์แลนด์ เพื่อโอกาสในการติดทีมชาติที่มากขึ้นหลังจากที่เคยถูกเรียกตัวและได้ลงสนามให้กับ สิงโตคำราม มาแล้ว 2 ครั้งเมื่อปี 1959

1963 – โอกาสเลื่อนชั้นที่ใกล้เคียงที่สุดของพวกเขาเกิดขึ้นในฤดูกาล 1962-63 หลังสามารถจอดป้ายในอันดับที่ 4 โดยมีแต้มตามหลัง เชลซี ทีมอันดับสองที่ได้สิทธิ์ตามหลัง สโต๊ค ซิตี้ ขึ้นไปเพียงแค่ 3 คะแนน

1966 – แต่แล้วเพียงแค่ 3 ปีหลังจากนั้นทุกอย่างก็กลับตาลปัตรเมื่อทีมโชว์ฟอร์มได้อย่างย่ำแย่ จนกระทั่งร่วงตกชั้นลงสู่ ดิวิชั่น 3 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรจากการเป็นทีมรองบ๊วยในฤดูกาล 1965-66

1967 – อย่างไรก็ตามพวกเขาใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวก็สามารถกลับคืนสู่ ดิวิชั่น 2 ได้อีกครั้ง หลังคว้าอันดับที่ 2 รองจาก ควีนส์ ปาร์ค เรนเจอร์ส

1973 – หลังกลับมาอยู่ใน ดิวิชั่น 2 คราวนี้ทีมสามารถรักษาผลงานที่ดีเอาไว้ได้และไม่เคยได้ต่ำกว่าอันดับที่ 9 เลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณ จอห์น ฮิกตัน ดาวยิงตัวเก่งที่สามารถรั้งตำแหน่งดาวซัลโวประจำทีมได้อย่างต่อเนื่อง 6 ฤดูกาลนับตั้งแต่ปีแรกที่กลับขึ้นมาได้จวบจนล่าสุดในซีซั่น 1972-73
หลังกลับมาอยู่ใน ดิวิชั่น 2 คราวนี้ทีมสามารถรักษาผลงานที่ดีเอาไว้ได้

1974 – และแล้ว มิดเดิ้ลสโบรช์ ก็สามารถทะยานขึ้นสู่ ดิวิชั่น 1 ได้อีกครั้ง จากการครองแชมป์ ดิวิชั่น 2 ได้เป็นสมัยที่ 3 หลังเป็นฝ่ายโกยแต้มทิ้งห่าง ลูตัน ทาวน์ ทีมอันดับสองไปไกลลิบถึง 15 คะแนน

1975 – พวกเขาเปิดตัวในลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปีได้อย่างน่าประทับใจด้วยการรั้งอยู่ในอันดับที่ 7 โดยมีแต้มตามหลัง ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ทีมแชมป์เพียง 5 คะแนน

1976 – นอกจากจะไปได้ไกลในรายการ ลีก คัพ ที่ผ่านเข้าไปจนถึงรอบรองชนะเลิศก่อนจะกระเด็นตกรอบด้วยน้ำมือของ แมนฯ ซิตี้ ที่กลายเป็นแชมป์ในที่สุด พวกเขายังสามารถคว้าถ้วยรางวัลใบแรกในฐานะสโมสรระดับอาชีพจากการเฉือนเอาชนะ ฟูแล่ม 1-0 ในนัดชิงชนะเลิศ แองโกล-สกอตติช คัพ ซึ่งเป็นรายการที่ถูกจัดขึ้นภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

1982 – แต่หลังจากใช้เวลาส่วนใหญ่ป้วนเปี้ยนอยู่ในพื้นที่กลางตาราง ในที่สุดพวกเขาก็ร่วงตกชั้นลงสู่ ดิวิชั่น 2 ดังเดิมจากการหล่นลงไปเป็นทีมบ๊วยเมื่อตอนปิดฉากฤดูกาล 1981-82

1985 – สถานการณ์หลังตกชั้นของ เดอะ โบโร่ ยิ่งดูน่าเป็นห่วงจากปัญหาหนี้สินที่กำลังรุมเร้า และแม้จะมีการผลัดเปลี่ยนผจก.ทีมไปหลายคนจาก มัลคอล์ม อัลลิสัน, แจ็ค ชาร์ลตัน จนมาเป็น วิลลี่ แม็ดเดรน แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดก็ทำให้ทีมหวุดหวิดที่จะตกชั้นลงไปอีกหลังจบฤดูกาล 1984-85 ด้วยอันดับที่ 19

1986 – บรู๊ซ ริอ็อค ขยับเข้ามาทำหน้าที่แทน แม็ดเดรน ในเดือนกุมภาพันธ์ 1986 ก่อนที่เดือนเมษายนพวกเขาจะต้องยอมบากหน้าไปกู้ยืมเงิน 30,000 ปอนด์มาจาก สมาคมนักฟุตบอลอาชีพ (PFA) เพื่อมาจ่ายเป็นค่าแรงให้กับนักเตะ ในที่สุดหลังจบ 42 นัดในฤดูกาล 1985-86 พวกเขาก็ร่วงตกชั้นลงสู่ ดิวิชั่น 3 อีกครั้ง ที่ตามมาด้วยคำสั่งศาลบังคับให้สโมสรต้องยกเลิกกิจการเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ หลังจากประตูรั้วของสนาม อายร์ซัม ปาร์ค ถูกสั่งปิดตายและสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นก็เริ่มประกาศข่าวเรื่องการล้มละลายของพวกเขา ในขณะที่ยังเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 10 นาทีก่อนจะถึงเส้นตาย สตีฟ กิ๊บสัน นักธุรกิจชาวท้องถิ่นหนึ่งในผู้นำกลุ่มกิจการค้าร่วมภายในประเทศก็ได้ยื่นหลักฐานการเข้าเทคโอเวอร์พร้อมขอรักษาสิทธิ์ลงเตะในฟุตบอลลีกต่อไปในซีซั่นหน้า ในขณะที่ โคลิน เฮนเดอร์สัน ก็ถูกรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสโมสร และแม้ทีมจะยังได้กลับมาลงเล่นใน ดิวิชั่น 3 ต่อไปแต่ก็ต้องหันไปใช้สนาม วิคตอเรีย ปาร์ค ของ ฮาร์เทิลพูล ยูไนเต็ด ภายในระหว่างนั้น

บรู๊ซ ริอ็อค ขยับเข้ามาทำหน้าที่แทน แม็ดเดรน ในเดือนกุมภาพันธ์ 1986

1987 – ด้วยขุนพลนักเตะดาวรุ่งอย่าง แกรี่ พัลลิสเตอร์, โคลิน คูเปอร์ และ โทนี่ โมว์เบรย์ ก็ช่วยให้พวกเขากลับคืนสู่ ดิวิชั่น 2 ได้อย่างทันควัน หลังสามารถคว้าอันดับที่ 2 รองจาก บอร์นมัธ

1988 – ริอ็อค กลายเป็นที่รักของแฟนๆเพิ่มขึ้นจากการพาทีมทะยานขึ้นสู่ ดิวิชั่น 1 ได้ติดต่อกันในซีซั่นต่อมา หลัง สิงห์แดง จบฤดูกาล 1987-88 ด้วยอันดับที่ 3 จนได้สิทธิ์ลงเล่นในเกมเพลย์ออฟ โดยในปีนั้นทางฟุตบอลลีกยังคงใช้กฏให้ทีมอันดับ 3-5 จาก
ดิวิชั่น 2 บวกกับทีมอันดับ 18 จาก ดิวิชั่น 1 ต้องมาประกบคู่กันในการแข่งขันแบบเหย้าเยือน ซึ่งหลังจากผ่าน แบรดฟอร์ด ซิตี้ มาได้ในรอบตัดเชือก พวกเขาก็ได้เข้าชิงกับ เชลซี คู่แข่งจาก ดิวิชั่น 1 ก่อนจะเอาชนะไปได้ด้วยสกอร์รวม 2-1
1989 – แม้พวกเขาจะออกสตาร์ทซีซั่นใหม่ในลีกสูงสุดอีกครั้งด้วยการประคองตัวเองอยู่ในพื้นที่กลางตารางมาได้เรื่อยๆ แต่จากฟอร์มที่ค่อยๆแผ่วปลายก็ทำให้สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป จนกระทั่งการบุกไปพ่ายให้กับ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ในนัดปิดฤดูกาลก็ทำให้ทีมร่วงตกชั้นลงไปในที่สุด ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นพวกเขายังไม่เคยหล่นลงไปอยู่ในพื้นที่สีแดงเลยตลอดทั้งฤดูกาล

1990 – ทีมออกสตาร์ทซีซั่นใหม่ด้วยการเสีย แกรี่ พัลลิสเตอร์ ให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ด้วยค่าตัว 2.3 ล้านปอนด์ ที่ส่งผลให้ฟอร์มของพวกเขายังคงออกทะเลไปไกลและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายฤดูกาลที่แล้ว จนกระทั่ง โคลิน ท็อดด์ ถูกดึงเข้าเสียบแทน บรู๊ซ ริอ็อค ที่ถูกปลดออกไปในช่วงเดือนมีนาคม 1990 ก่อนจะพาทีมจอดป้ายในอันดับที่ 21 และรอดพ้นจากการตกชั้นไปแบบหวุดหวิด

1991 – ท็อดด์ ช่วยให้ทีมทำผลงานได้ดีขึ้นจนรั้งอยู่ในอันดับที่ 7 และคว้าสิทธิ์ลงเล่นเกมเพลย์ออฟเลื่อนชั้นที่เปลี่ยนให้ทีมอันดับ 4-7 มาวัดกัน แต่สุดท้ายพวกเขาก็จอดป้ายตั้งแต่รอบรองชนะเลิศจากการพ่ายให้กับ น็อตต์ส เคาน์ตี้

1992 – และแล้วก็เป็น เลนนี่ ลอว์เรนซ์ ที่ขยับเข้ามาแทนที่ ท็อดด์ ในช่วงออกสตาร์ทซีซั่น 1991-92 ที่ช่วยให้ทีมเกาะติด อิปสวิช ทาวน์ ทีมแชมป์ ดิวิชั่น 2 เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดภายใต้แบรนด์ใหม่ในฤดูกาลหน้าแบบอัตโนมัติ

1993 – แต่หลังจากเป็นหนึ่งในทีมที่ได้ร่วมตัดริบบิ้นเปิดตัว พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 1992-93 มิดเดิ้ลสโบรช์ ก็ต้องม้วนเสื่อกลับคืนสู่ ดิวิชั่น 1 ที่เปลี่ยนสถานะเป็นลีกลำดับที่ 2 หลังทำได้เพียงรั้งอยู่ในอันดับรองบ๊วย

1995 – ในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล 1994-95 สตีฟ กิ๊บสัน ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานแทนที่ โคลิน เฮนเดอร์สัน พร้อมประกาศแต่งตั้ง ไบรอัน ร็อบสัน ที่ย้ายเข้ามาในซีซั่นที่แล้วในฐานะผู้เล่น/ผจก.ทีมให้ขยับขึ้นมารับตำแหน่งแทน เลนนี่ ลอว์เรนซ์ ที่จากไปคุมทีม แบรดฟอร์ด ก่อนที่อดีตกัปตันทีมปีศาจแดงจะพา เดอะ โบโร่ คว้าแชมป์ ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ พร้อมๆกับการเตรียมตัวย้ายเข้าสู่ ริเวอร์ไซด์ สเตเดี้ยม รังเหย้าแห่งใหม่ในซีซั่นถัดไป

สตีฟ กิ๊บสัน ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานแทนที่ โคลิน เฮนเดอร์สัน

1996 – ร็อบสัน เริ่มต้นเสริมทัพในการกลับคืนสู่ พรีเมียร์ลีก อีกครั้งด้วยการดึงตัว นิค บาร์มบี้ และ จูนินโญ่ เปาลิสต้า เข้ามาประสานงานร่วมกับ นีล ค็อกซ์, ไนเจล เพียร์สัน และ แยน อาร์เก้ ฟอร์ทอฟต์ ที่ย้ายเข้ามาตั้งแต่ซีซั่นที่แล้ว และช่วยพาทีมเปิดตัวได้อย่างสวยงามจากการรั้งอยู่ในอันดับที่ 4 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ก่อนจะค่อยๆแผ่วปลายหลังช่วงวันคริสต์มาสต์ที่รวมถึงการพ่ายแพ้ 8 นัดรวด จนท้ายที่สุดก็ทำได้เพียงรั้งอยู่ในอันดับที่ 12

1997 – พวกเขาเดินหน้าทุ่มงบซื้อตัว ฟาบริซิโอ ราวาเนลลี่ ดาวยิงทีมชาติอิตาลี และ เอเมอร์สัน มิดฟิลด์ชาวบราซิลเลี่ยน เข้ามาเสริมในช่วงปรีซีซั่น แต่ไปๆมาๆแทนที่จะได้ลุ้นตำแหน่งท็อป 5 ตามที่ตั้งใจไว้กลับต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพยายามดิ้นรนหนีตาย งานของพวกเขากลับยากขึ้นมาอีกเมื่อดันไปปฏิเสธโปรแกรมเตะกับ แบล็กเบิร์น จากปัญหาที่ผู้เล่นส่วนใหญ่มีอาการป่วยเนื่องจากไข้หวัดใหญ่จนไม่สามารถจัดทีมลงสนามได้ แต่ทาง เอฟเอ ปฏิเสธข้ออ้างนี้และทำการตัดแต้มพวกเขา 3 คะแนนตอนช่วงหลังวันคริสมาสต์ อย่างไรก็ตาม ร็อบสัน สามารถพาทีมผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศในรายการ ลีก คัพ และจากประตูขึ้นนำของ ราวาเนลลี่ ในนาทีที่ 95 ก็ทำให้แฟนๆเริ่มฝันถึงการได้ฉลองแชมป์รายการสำคัญเป็นครั้งแรก แต่ก่อนหมดช่วงต่อเวลาพิเศษเพียง 2 นาที เอมิล เฮสกีย์ ก็มายิงตีเสมอให้กับ เลสเตอร์ ซิตี้ จนต้องไปวัดกันใหม่ในนัดรีเพลย์ก่อนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป 1-0 จนกระทั่งผลเสมอกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด 1-1 ที่ เอลแลนด์ โร้ด ในนัดปิดฤดูกาลก็ทำให้ สิงห์แดง ร่วงตกชั้นลงไปในที่สุด ซึ่งอันที่จริงแล้วหากพวกเขาไม่ถูกลงโทษตัด 3 คะแนนก็จะมีแต้มเพียงพอต่อการอยู่รอดปลอดภัย นอกจากนี้ทีมยังมีโอกาสได้เข้าชิงชนะเลิศในรายการ เอฟเอ คัพ อีกด้วย แต่ก็ต้องพ่ายให้กับ เชลซี 2-0

1998 – ถึงแม้ทีมจะต้องสูญเสียสตาร์คนสำคัญอย่าง ราวาเนลลี่ และ จูนินโญ่ ออกไป แต่จากการได้ตัว พอล เมอร์สัน เข้ามารวมกับ มาร์ค ชวาร์เซอร์ และ จานลูก้า เฟสต้า ขุมกำลังสำคัญที่ยังอยู่กับทีมต่อ ก็ทำให้ ร็อบสัน ที่ยังได้รับความไว้วางใจจากบอร์ดบริหารให้ทำหน้าที่ต่อไป ตอบแทนความคาดหวังของทุกคนด้วยการพาทีมกลับเลื่อนชั้นขึ้นมาจากการคว้าอันดับที่ 2 รองจาก ฟอเรสต์ และภายในซีซั่น 1997-98 พวกเขายังมีโอกาสเดินทางเข้าสู่ เวมบลีย์ เพื่อเผชิญหน้ากับ เชลซี คู่ปรับเก่าแต่เปลี่ยนมาชิงชัยกันในถ้วย ลีก คัพ ก่อนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปด้วยสกอร์ 2-0 เท่าเดิม

1999 – แม้จะสูญเสีย พอล เมอร์สัน ไปให้กับ แอสตัน วิลล่า แต่การได้ตัว แกรี่ พัลลิสเตอร์ กลับคืนมา บวกกับ พอล แกสคอยน์ ที่เริ่มฟิตเต็มที่อีกครั้งหลังย้ายเข้ามาตั้งแต่ปลายซีซั่นก่อน รวมถึง ฮามิลตัน ริคาร์ด ที่เริ่มปรับตัวได้จนกลายเป็นตัวความหวังในการทำประตู ก็ทำให้ มิดเดิ้ลสโบรช์ สามารถประคองตัวได้ดีสำหรับการกลับคืนสู่ลีกสูงสุดของประเทศ พวกเขายังสร้างสถิติไร้พ่ายในลีกได้ถึง 11 นัดที่รวมถึงการบุกไปเอาชนะ แมนฯ ยูไนเต็ด 3-2 ถึงถิ่น โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด และกลายเป็นความพ่ายแพ้ในบ้านนัดเดียวของ ปีศาจแดง ในฤดูกาลคว้าทริปเปิ้ลแชมป์ ก่อนจะจบซีซั่นนั้นด้วยการลอยตัวอยู่ในอันดับที่ 9

2000 – ทีมเดินหน้าคว้าตัว คริสเตียน ซีเก้ และ พอล อินซ์ เข้ามาเสริมทัพในช่วงปรีซีซั่น รวมถึงการได้ตัว จูนินโญ่ กลับมาด้วยสัญญายืมตัวระหว่างกลางซีซั่น แต่กลับมีผลงานที่ดร็อปลงเล็กน้อยจากการจบฤดูกาล 1999-2000 ด้วยอันดับที่ 12

2001 – แม้จะเสริมทัพอย่างหนักด้วยการเซ็นสัญญากับ คริสติยอง การอมเบอ, โจเซฟ-เดซิเร่ จ๊อบ, อเลน บ๊อคซิช และ อูโก้ อีไฮอ็อก แต่พวกเขากลับออกสตาร์ทได้อย่างย่ำแย่และจมลงไปอยู่ในโซนตกชั้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2000 จนทำให้ สตีฟ กิ๊บสัน ประธานสโมสรรีบหาหนทางแก้ปัญหาด้วยการทาบทาม เทอร์รี่ เวนาเบิ้ลส์ เข้ามาช่วยทำหน้าที่ตีคู่ไปกับ ร็อบสัน ก่อนที่ฟอร์มของทีมจะเริ่มกระเตื้องขึ้นและอยู่รอดปลอดภัยด้วยการรั้งอันดับที่ 14

2002 – ร็อบสัน ตกลงใจแยกทางกับสโมสร ก่อนที่ สตีฟ แม็คลาเรน มือขวาของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่กำลังเนื้อหอมเต็มที่จะย้ายเข้ามารับตำแหน่งคุมทีมอย่างเต็มตัวในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล 2001-02 ก่อนจะจัดการคว้าตัว แกเร็ธ เซาธ์เกต เข้ามาในราคา 6.5 ล้านปอนด์ โดยที่เขาสร้างผลงานในซีซั่นเปิดตัวด้วยการได้อันดับที่ 12 และยังผ่านเข้าไปจนถึงรอบตัดเชือก เอฟเอ คัพ ก่อนจะพ่ายให้กับ อาร์เซน่อล ที่กลายเป็นแชมป์ในที่สุด

2003 – ทีมออกสตาร์ทด้วยความหวังลุ้นพื้นที่ยุโรปจากการเสริมทัพด้วย เฌเรมี่, จอร์จ บัวเต็ง, มัสซิโม่ มัคคาโรเน่ และ จูนินโญ่ ที่หวนกลับมาเป็นรอบที่ 3 แต่แล้วก็เกิดข่าวร้ายขึ้นเมื่อ สตาร์ร่างเล็กชาวบราซิล ดันมีอาการบาดเจ็บรุนแรงที่หัวเข่าเพียงไม่กี่วัน
ก่อนเปิดฤดูกาล 2002-03 จนไปๆมาๆพวกเขาก็ทำได้เพียงขยับขึ้นมาเล็กน้อยจากการจอดป้ายในอันดับที่ 11

2004 – ด้วยความชาญฉลาดในการนำนักเตะหน้าใหม่เข้ามาด้วยสัญญายืมตัวทั้ง แดนนี่ มิลล์ส, กาอิซก้า เมนดิเอต้า และ เบาเดอไวน์ เซนเด้น ก็ทำให้ เดอะ โบโร่ เดินทางมาจนถึงจุดพีคที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสโมสร เมื่อสามารถผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศในรายการ ลีก คัพ และสามารถสยบ โบลตัน วันเดอเรอร์ส 2-1 จากการทำประตูของ จ๊อบ และลูกจุดโทษของ เซนเด้น ที่ได้มาตั้งแต่ในช่วงไม่ถึง 10 นาทีแรก จนทำให้พวกเขาคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์ใบแรกมาครองได้สำเร็จ ซึ่งก็ทำให้ทีมได้สิทธิ์ลงเตะในถ้วย ยูฟ่า คัพ ฤดูกาลหน้าแม้จะปิดฉากซีซั่นนั้นด้วยการได้อันดับที่ 11

2005 – จากการเซ็นสัญญากับ มิเชล ไรซีเกอร์, จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์, เรย์ พาร์เลอร์ และ เบาเดอไวน์ เซนเด้น เข้ามาแบบฟรีๆ รวมถึงการควักกระเป๋า 4.5 ล้านปอนด์ในการคว้าตัว มาร์ค วิดูก้า ก็ทำให้ทีมของ แม็คลาเรน เกาะอยู่ในกลุ่มลุ้นพื้นยุโรปแทบจะตลอดทั้งซีซั่น สุดท้ายก็ต้องขอบคุณการเซฟจุดโทษของ มาร์ค ชวาร์เซอร์ ในนัดปิดฤดูกาลที่ออกไปเยือน แมนฯ ซิตี้ ที่ทำให้เกมจบลงด้วยสกอร์ 1-1 จนทำให้พวกเขารักษาอันดับที่ 7 เอาไว้ได้และสามารถคว้าสิทธิ์ในการลงเตะ ยูฟ่า คัพ เป็นปีที่สองติดต่อกัน

2006 – พวกเขาเตรียมพร้อมสำหรับเส้นทางในเวทียุโรปด้วยการดึงตัว เอมานูเอล โปกาเตทซ์, ยาคูบู ไอเย็กเบนี่, ฟาบิโอ โรเชมบัค และ อาเบล ซาเวียร์ เข้ามา ที่แม้ผลงานในลีกจะไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไรนักจากการได้อันดับที่ 14 แต่พวกเขาก็สามารถผ่านเข้าไปจนถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในถ้วย ลีก คัพ และรอบรองชนะเลิศ เอฟเอ คัพ แต่สิ่งที่ทำให้แฟนๆปลาบปลื้มกันมากที่สุดก็คือการได้ลงสนามในนัดชิงรายการ ยูฟ่า คัพ ที่ ไอนด์โฮเฟ่น แม้จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับ เซบีย่า แบบขาดลอย 4-0 ก็ตาม ซึ่งหลังจากจบซีซั่นนั้น สตีฟ แม็คลาเรน ได้ตัดสินใจแยกทางกับสโมสรเพื่อไปรับตำแหน่งผจก.ทีมชาติอังกฤษ

2007 – แม้จะไม่มีใบอนุญาตการเป็นโค้ช แต่ แกเร็ธ เซาธ์เกต ก็ได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษสำหรับการก้าวเข้ามาคุมทีมอย่างเต็มตัวในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล 2006-07 พร้อมกับการดึงตัว ฮูลิโอ อาร์ก้า และ โรเบิร์ต ฮูธ รวมถึงยืมตัว โจนาธาน วู้ดเกต เข้ามาเสริมทัพที่ช่วยให้ผลงานประเดิมซีซั่นแรกจบลงด้วยการคว้าอันดับที่ 12

แม้จะไม่มีใบอนุญาตการเป็นโค้ช แต่ แกเร็ธ เซาธ์เกต ก็ได้รับการยกเว้น

2008 – เซาธ์เกต ยอมทุบสถิติของสโมสรด้วยการคว้าตัว อฟอนโซ่ อัลเวส หัวหอกชาวบราซิล มาจาก ฮีเรนวีน ในราคา 13.6 ล้านปอนด์ ตอนวันสุดท้ายก่อนปิดตลาดเดือนมกราคม ที่ยังไม่รวมถึงการเซ็นสัญญาถาวรกับ โจนาธาน วู้ดเกต, อาเหม็ด ฮอสซัม มิโด้ และ ตุนกาย ซานลี่ ในช่วงปรีซีซั่น แต่สุดท้ายพวกเขาก็ทำได้เพียงขยับหนีจากโซนตกชั้นจนมาอยู่อันดับที่ 13

2009 – และแล้วภายในซีซั่นที่ 3 ของการทำหน้าที่เฮดโค้ชของ เซาธ์เกต ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ก็ทำให้ผลงานของ สิงห์แดง ค่อยๆสาละวันเตี้ยลงจนกระทั่งการบุกไปพ่ายให้กับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 2-1 ที่ ลอนดอน ในนัดปิดฤดูกาล 2008-09 ก็ทำให้พวกเขาต้องร่วงลงสู่ ลีกแชมเปี้ยนชิพ จากการรั้งอันดับรองบ๊วย หลังยืนหยัดอยู่ใน พรีเมียร์ลีก มายาวนานต่อเนื่อง 11 ปี

2010 – จู่ๆการปลด เซาธ์เกต ออกจากตำแหน่งระหว่างเดือนตุลาคม 2009 และดึงตัว กอร์ดอน สตรัคคั่น เข้ามาเสียบแทน ในขณะที่ทีมยังรั้งอยู่ในอันดับที่ 4 และมีคะแนนตามหลังพวกที่อยู่ในโซนเลื่อนชั้นอัตโนมัติเพียงแค่แต้มเดียว ก็ทำให้ฟอร์มของพวกเขาค่อยๆแผ่วลงจนกระทั่งจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 11

2011 – แม้จะถูกวางให้เป็นหนึ่งในทีมเต็งเลื่อนชั้นก่อนออกสตาร์ทฤดูกาล 2010-11 แต่จากผลงานที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่องก็ทำให้ สตรัคคั่น ตัดสินใจลาออกหลังอยู่ในตำแหน่งได้เกือบจะครบปีพอดี ก่อน โทนี่ โมว์เบรย์ จะเข้ามาช่วยพลิกสถานการณ์จนพาทีมจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 12

2012 – ภายใต้การคุมทีมอย่างเต็มตัวของ โมว์เบรย์ พวกเขาจวนเจียนจะได้สิทธิ์ลุ้นในการเลื่อนชั้น หลังทำแต้มตามหลัง คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ทีมอันดับ 6 ที่ได้ลงเตะเกมเพลย์ออฟอยู่ 5 คะแนน

2013 – จากผลงานอันน่าประทับใจก็ทำให้ทีมผงาดขึ้นไปรั้งอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูงระหว่างเดือนพฤศจิกายน แต่แล้วจู่ๆเมื่อย่างเข้าสู่ปี 2013 ฟอร์มของพวกเขาก็กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน โดยพ่ายแพ้ไปถึง 15 จาก 21 นัดที่เหลือ จนทำให้ปิดฉากฤดูกาล 2012-13 ด้วยอันดับที่ 16 แบบงงๆ

2014 – ด้วยผลงานที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่องก็ทำให้ โมว์เบรย์ ตัดสินใจลาออกในช่วงเดือนตุลาคม ก่อนที่สโมสรจะหันไปทาบทาม ไอตอร์ การันก้า อดีตกองหลังทีมชาติสเปนผู้ที่ยังเป็นผู้ช่วยของ โชเซ่ มูรินโญ่ ที่ เรอัล มาดริด ให้เข้าทำหน้าที่คุมทีมอย่างเต็มตัว ก่อนที่เขาจะช่วยประคองทีมไปจนจบด้วยอันดับที่ 12

2015 – ภายในซีซั่นแรกของการรับบทเทรนเนอร์ตั้งแต่เริ่มต้น การันก้า สามารถพาทีมขยับขึ้นมารั้งอยู่ในอันดับที่ 4 แต่น่าเสียดายที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับ นอริช ซิตี้ 2-0 ที่ เวมบลีย์ ในเกมเพลย์ออฟเลื่อนชั้นนัดชิงชนะเลิศ ในขณะที่ แพทริก แบมฟอร์ด หัวหอกดาวรุ่งที่ยืมตัวมาจาก เชลซี และช่วยซัดไปทั้งหมด 17 ประตูจาก 38 เกมก็สามารถคว้าตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมของลีกแชมเปี้ยนชิพประจำฤดูกาล 2014-15

2016 – และแล้ว ไอเตอร์ การันก้า ก็พา มิดเดิ้ลสโบรช์ เลื่อนชั้นขึ้นสู่ พรีเมียร์ลีก ได้สำเร็จ จากการเปิดบ้านเสมอกับ ไบรท์ตัน ในนัดสุดท้ายของฤดูกาล 2015-16 ที่ทำให้พวกเขาคว้าอันดับที่ 2 โดยมีแต้มเท่ากับ ไบรท์ตัน แต่ปล่อยให้คู่แข่งต้องเป็นฝ่ายไปลุ้นต่อในเกมเพลย์ออฟจากประตูได้เสียที่ดีกว่า

2017 – แม้ทีมจะพยายามเสริมทัพด้วยการเซ็นสัญญากับ บิคตอร์ บัลเดส, แกสตัน รามิเรซ, อดาม่า ตราโอเร่ และ แพทริก แบมฟอร์ด รวมถึงการยืมตัว อัลบาโร่ เนเกรโด้ และ คัมลั่ม แชมเบอร์ส เข้ามาก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังป้วนเปี้ยนอยู่ไม่ไกลจากโซนตกชั้น จนกระทั่งเริ่มหล่นลงไปอยู่ในพื้นที่สีแดงตอนช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ตามมาด้วยการปลด การันก้า ออกจากตำแหน่งและดึง สตีฟ แอ็กนิว เข้ามารักษาการณ์แทนแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก สุดท้ายพวกเขาก็ต้องหวนคืนกลับสู่ อีเอฟแอล แชมเปี้ยนชิพ จากการจอดป้ายด้วยอันดับรองบ๊วย

2018 – สโมสรประกาศแต่งตั้ง แกรี่ มังค์ เข้ามาเป็นผจก.ทีมในช่วงออกสตาร์ทซีซั่น 2017-18 แต่เขาก็อยู่ได้จนก่อนจะถึงคริสมาสต์เพียงแค่ 2 วัน ก่อนจะถูกสับเปลี่ยนโดย โทนี่ พูลิส ที่ค่อยๆพาทีมไต่ขึ้นมาจนจบด้วยอันดับที่ 5 แต่ก็ต้องหมดลุ้นโอกาสเลื่อนชั้นไปอย่างรวดเร็วจากการพ่ายให้กับ แอสตัน วิลล่า ในเกมเพลย์ออฟรอบตัดเชือก

สโมสรประกาศแต่งตั้ง แกรี่ มังค์ เข้ามาเป็นผจก.ทีม

ผู้สนับสนุนและศัตรูคู่อริ

โดยพื้นเพแล้วกลุ่มผู้สนับสนุนของ มิดเดิ้ลสโบรช์ ก็คือผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกท้องถิ่น พวกเขายังเป็นหนึ่งในสโมสรจากสหราชอาณาจักรที่มีสมาชิกผู้ถือตั๋วรายปีเป็นคนที่เกิดในท้องที่สูงที่สุดจากสัดส่วน 80% และยังเป็นหนึ่งในทีมที่มีจำนวนสมาชิกเป็นผู้หญิงมากถึง 20% ในขณะที่ผลสำรวจตอนช่วงต้นซีซั่น 2007-08 ก็พบว่า แฟนบอลของ เดอะ โบโร่ คือกองเชียร์ที่ส่งเสียงดังมากที่สุดอันดับ 7 ใน พรีเมียร์ลีก

ศัตรูอันดับต้นๆในสายตาของแฟนๆก็คือ ซันเดอร์แลนด์, นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด และ ลีดส์ ยูไนเต็ด โดยเฉพาะ 2 รายแรกที่มีชื่อเรียกสำหรับการเผชิญหน้ากันว่า ทีส์-แวร์ ดาร์บี้ (Tees–Wear derby) และ ไทน์-ทีส์ ดาร์บี้ (Tyne–Tees_derby) ตามลำดับ จากการเป็นสโมสรที่ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเหล่านั้น และในขณะที่ คาร์ไลส์ ยูไนเต็ด ก็มองพวกเขาเป็นคู่อริที่สำคัญ แต่ทางฝั่ง สิงห์แดง กลับไม่นับรวม คาร์ไลส์ ให้เป็นคู่แข่งที่อยู่ในอันดับท็อป 3

มิดเดิ้ลสโบรช์ ยังมีอีกสมญานามว่า “สม็อกกี้ส์” (Smoggies) ที่เริ่มต้นจากการถูกคู่แข่งล้อเลียนถึงสภาพเมืองอุตสาหกรรมของพวกเขาที่เต็มไปด้วยมลพิษในอากาศ แต่ไปๆมาๆพวกเขากลับทำเนียนยอมรับฉายานั้นเสียเลย ซึ่งก็สามารถสังเกตเห็นได้จากข้อความที่มักปรากฏอยู่ในแผ่นป้ายแบนเนอร์ของบรรดากองเชียร์ในนัดเยือนว่า “Smoggies on Tour”

kr777