พลิกประวัติ ปาร์ม่า (Parma Calcio) แมวเก้าชีวิติแห่งลีกแดนรองเท้าบูท

แมวเก้าชีวิติแห่งลีกแดนรองเท้าบูท

ปาร์ม่า กัลโช่ 1913 (Parma Calcio 1913) หรือที่รู้จักกันดีในนาม ปาร์ม่า คือสโมสรฟุตบอลอาชีพที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมือง ปาร์ม่า แคว้น เอมิเลีย-โรมันญ่า ประเทศ อิตาลี ล่าสุดพวกเขาลงเตะอยู่ใน เซเรีย อา ลีกสูงสุดของประเทศ

ทีมเจ้าของฉายา จัลโล่บลู (Gialloblu) ถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 1913 ภายใต้ชื่อ Parma Football Club ปัจจุบันลงเล่นอยู่ในรังเหย้า สตาดิโอ เอนนิโอ ตาร์ดินี่ ที่รองรับความจุ 26,969 ที่นั่ง และสนามแห่งนี้ก็มักจะถูกเรียกว่า อิล ตาร์ดินี่ มานับตั้งแต่ปี 1923

ภายใต้การสนับสนุนทางด้านการเงินจาก คาลิสโต้ ทานซี่ ก็ช่วยให้ทีมเดินหน้าคว้าโทรฟี่มาได้ถึง 8 รางวัลในระหว่างปี 1992 ถึง 2002 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ปาร์ม่า ทำผลงานในลีกได้ดีที่สุดจากการเป็นรองแชมป์ของฤดูกาล 1996-97 พวกเขายังคว้าแชมป์ โค้ปปา อิตาเลีย ได้ถึง 3 ครั้ง ซูเปอร์โคปปา อิตาเลียน่า 1 ครั้ง รวมถึง ยูฟ่า คัพ 2 สมัย, ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ 1 ครั้ง และ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ คัพ อีก 1 สมัย

แต่หลังประสบปัญหาทางด้านการเงินในช่วงปลายปี 2003 จากเหตุการณ์ทุจริตของ ปาร์มาลัต ธุรกิจหลักของ ทานซี่ เจ้าของทีมที่ส่งผลกระทบให้บริษัทแม่ของทีมล้มระเนระนาด จนทำให้สโมสรถูกเข้ามาควบคุมกิจการจนถึงช่วงมกราคมปี 2007 และในที่สุดพวกเขาก็ตกอยู่ในสถานะล้มละลายในปี 2015 ก่อนจะเปิดตัวขึ้นมาใหม่อีกครั้งและเริ่มต้นลงเตะอยู่ใน เซเรีย ดี จนสามารถสร้างสถิติเลื่อนชั้นได้ 3 ปีซ้อนและกลับคืนสู่ เซเรีย อา ได้สำเร็จในปี 2018

เรจจาน่า ถือเป็นทีมคู่ปรับที่สำคัญของ ปาร์ม่า ระหว่างการพบกันของทั้ง 2 ทีมจะถูกเรียกว่า Derby dell’Enza ที่เริ่มต้นดวลกันครั้งแรกตั้งแต่ช่วงปลายปี 1919 และจากตัวเลขล่าสุดในการพบกันทั้งหมด 81 ครั้ง ทั้งคู่มีสถิติในการ แพ้ ชนะ เสมอ กันอย่างละ 27 ครั้งเท่ากันพอดี

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1913 – สโมสรถูกก่อตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคมภายใต้ชื่อ สโมสรฟุตบอลแวร์ดี้ (Verdi Foot Ball Club) เพื่อเป็นเกียรติให้กับการครบรอบ 100 ปีของยอดนักประพันธ์บทเพลง โอเปร่า จูเซปเป้ แวร์ดี้ ที่เกิดในเมืองปาร์ม่า โดยนำสีเหลืองและน้ำเงินมาเป็นสีประจำสโมสร จนกระทั่งเดือนธันวาคมปีเดียวกัน สโมสรฟุตบอล ปาร์ม่า (Parma Football Club) ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวขึ้นมาใหม่โดยมีที่มาจากสมาชิกส่วนใหญ่ของสโมสรดั้งเดิมและเลือกใช้เสื้อสีพื้นขาวที่มีกากบาทดำตรงกลาง

1919 – ทีมเริ่มเข้าร่วมฟุตบอลลีกหลังจบ สงครามโลกครั้งที่ 1 ในฤดูกาล 1919-20

1922 – เอนนิโอ ตาร์ดินี่ ประธานสโมสรในเวลานั้นได้เริ่มต้นโครงการก่อสร้างสนามแข่งขันให้กับทีม หลังจากที่พวกเขาเริ่มต้นด้วยการไม่มีรังเหย้าเป็นของตนเอง และหันมาใช้สถานที่เตะในค่ายทหารเก่าตลอดช่วง 2 ฤดูกาลหลังสุด

1923 – สโมสรเปิดตัวรังเหย้า สตาดิโอ เอนนิโอ ตาร์ดินี่ ที่ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติกับอดีตประธานและนักกฎหมายผู้เสียชีวิตไปก่อนจะได้เห็นสนามที่ตนเองปลุกปั้นขึ้นมา

1925 – หลังโชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมภายในฤดูกาล 1924-25 พวกเขาก็ได้ขยับจาก เซกอนด้า ดีวีซีโอเน่ หรือดิวิชั่น 2 ในเวลานั้นขึ้นสู่ ปรีม่า ดีวีซีโอเน่ ลีกสูงสุดของประเทศ

1929 – ปาร์ม่า กลายเป็นหนึ่งในทีมที่ได้ร่วมก่อตั้ง เซเรีย บี หลังคว้าอันดับที่สองของ ปรีม่า ดีวีซีโอเน่ ที่ถูก สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี (FIGC) ปรับลดชั้นลงมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน

1930 – จัลโล่บลู เปิดตัวใน เซเรีย บี 1929-30 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1929 ก่อนจะจบฤดูกาลแรกด้วยการอยู่ในอันดับที่ 12

1932 – หลังพยายามประคองตัวเองอยู่ใน เซเรีย บี ได้ไม่นาน พวกเขาก็จมอยู่ในอันดับบ๊วยและพ่ายแพ้ไปถึง 28 จาก 34 เกมจนต้องลงไปอยู่ใน ปรีม่า ดีวีซีโอเน่ ฤดูกาล 1932-33 ปีที่พวกเขาขอเปลี่ยนชื่อทีมไปเป็น Associazione Sportiva Parma

1934 – แม้พวกเขาจะสามารถคว้าอันดับที่ 1 ของโซน D แต่หลังจากเข้าไปถึงรอบตัดสินก็ทำผลงานได้แค่เป็นทีมบ๊วยของกลุ่ม B จนหมดโอกาสเลื่อนชั้นในปีนั้น

ไทม์ไลน์ประวัติสโมสร

1935 – ปาร์ม่า ได้มีโอกาสเป็นทีมที่ร่วมเปิดตัว เซเรีย ซี หรือลีกดิวิชั่น 3 ที่มีการปรับโครงสร้างใหม่จาก FIGC

1942 – หลังใช้เวลาป้วนเปี้ยนอยู่ใน เซเรีย ซี นานหลายปี ทีมก็มีโอกาสใกล้เคียงที่จะได้เลื่อนชั้น เมื่อจบฤดูกาลด้วยการเป็นที่ 2 ของกลุ่ม B

1943 – พวกเขาทำได้ดีขึ้นด้วยการเก็บชัยชนะไปถึง 17 จาก 19 นัดและซัดไปถึง 82 ประตูจนกลายเป็นจ่าฝูงของกลุ่ม G และได้ผ่านเข้าสู่รอบตัดสิน โดยที่ทีมน่าจะได้รับโอกาสเลื่อนชั้นหลังสามารถเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่ม แต่ก็ถูกตัดสิทธิ์เนื่องจากมีส่วนในการทุจริตระหว่างแมตช์สุดท้ายที่พบกับ เลคโค่ อย่างไรก็ตามหลังฤดูกาล 1942-43 สิ้นสุดลงวงการลูกหนังอิตาลีก็ต้องหยุดว่างเว้นไปเป็นระยะเวลา 2 ปีเนื่องจากผลพวงของ สงครามโลกครั้งที่ 2

1945 – หลังฟุตบอลภายในประเทศเริ่มกลับมาเตะกันอีกครั้ง FIGC ก็ได้ทำการปรับโครงสร้างลีก โดยที่ ปาร์ม่า ได้รับโอกาสให้ออกสตาร์ทใน เซเรีย บี จากการเป็นกลุ่มทีมที่ดีที่สุดของ เซเรีย ซี ที่ได้ขยับขึ้นมา ก่อนจะจบด้วยการเป็นที่ 3 ของกลุ่ม C ที่มีแต้มตามหลัง เรจจาน่า ทีมอันดับ 2 ที่ได้สิทธิ์ไปลุ้นในรอบเพลย์ออฟเพียงแค่คะแนนเดียว

1948 – ในฤดูกาล 1947-48 ทาง FIGC มีแผนที่จะปรับโครงสร้างลีกใน เซเรีย บี ให้มีรูปแบบใกล้เคียงกับ เซเรีย อา และเหลือทีมแข่งขันอยู่เพียงแค่ 22 ทีม จึงทำให้ ปาร์ม่า ที่แม้จะจบซีซั่นนั้นด้วยการเป็นอันดับที่ 6 ของกลุ่ม แต่ก็ต้องไปลุ้นหนีตายด้วยการเล่นเพลย์ออฟร่วมกับ เครโมเนเซ่ และ ปราโต้ ซึ่งผลสุดท้ายพวกเขาก็เอาตัวรอดได้สำเร็จ

1949 – แต่แล้วในซีซั่นต่อมาหลังจบด้วยการมีแต้มอยู่เหนือ 3 ทีมจากท้ายตาราง พวกเขาก็ต้องไปเล่นเกมเพลย์ออฟเพื่อหนีตายอีกครั้งกับ สเปเซีย ที่มีแต้มเท่ากัน ก่อนจะพ่ายแพ้ไปแบบยับเยิน 4-1

1950 – ทีมกลับมาเริ่มต้นใน เซเรีย ซี อีกครั้งและเกือบจะได้ลุ้นเลื่อนชั้นในปีแรกหลังจบซีซั่นด้วยการเป็นที่สองของกลุ่ม B

1954 – จนกระทั่งปีที่ 2 ของการปรับโครงสร้าง เซเรีย ซี ให้มีรูปแบบเดียวกับ 2 ลีกระดับสูงสุดของประเทศ ปาร์ม่า ก็โชว์ฟอร์มสดและคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นสู่ เซเรีย บี ด้วยการเป็นแชมป์ดิวิชั่น 3 ในฤดูกาล 1953-54

1955 – ทีมสร้างผลงานได้ดีที่สุดในยุคนั้นด้วยการจบฤดูกาล 1954-55 ใน เซเรีย บี ด้วยอันดับที่ 9

1961 – จัลโล่บลู ลงแข่งขันในเกมยุโรปเป็นครั้งแรกในทัวร์นาเมนต์ โคปปา เดลเล่ อัลปิ ด้วยการเป็น 1 ใน 8 สโมสรของ อิตาลี ที่ร่วมกันลงแข่งขันกับทีมจาก สวิตเซอร์แลนด์ และจบลงด้วยชัยชนะของฝั่ง อิตาลี

1965 – หลังลงเตะอยู่ใน เซเรีย บี นานร่วม 10 ปี ในที่สุดทีมก็ร่วงลงสู่ เซเรีย ซี อีกครั้งหลังจบฤดูกาล 1964-65 ด้วยอันดับสุดท้าย

1966 – ฟอร์มของพวกเขายังคงกู่ไม่กลับเมื่อตกชั้นลงสู่ เซเรีย ดี อย่างต่อเนื่องจากการเป็นทีมรองบ๊วยในซีซั่นถัดมา

1968 – ผลงานที่ย่ำแย่ก็ส่งผลต่อเนื่องมาถึงสถานะทางการเงินจนถึงขั้นถูกศาลสั่งให้ต้องชำระหนี้ ก่อนที่ทีมจะตัดสินใจเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น Parma Football Club ภายในปีนั้น

ปาร์ม่า ปี1968

1970 – ย้อนกลับไปในซีซั่นก่อนหน้านี้ Associazione Calcio Parmense อีกหนึ่งสโมสรในระดับท้องถิ่นสามารถขยับเลื่อนชั้นขึ้นสู่ เซเรีย ดี จนทำให้เกิดแผนการรวมตัวกับทีมดั้งเดิมของเมืองที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1913 พร้อมทั้งเข้ามาช่วยชำระหนี้และร่วมถือครองสิทธิ์การเป็นทีมประจำเมือง ก่อนจะพากันพลิกชะตาด้วยการคว้าแชมป์กลุ่มในซีซั่น 1969-70 จนได้โปรโมทขึ้นสู่ เซเรีย ซี ในที่สุด

1973 – สถานการณ์หลังการรวมทีมของ ปาร์ม่า ภายใต้ชื่อใหม่ Parma Associazione Calcio กลับดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อสามารถคว้าสิทธิ์เป็น 1 ใน 3 ทีมที่ได้เลื่อนชั้นไปยัง เซเรีย บี หลังลงเตะเพลย์ออฟกับ อูดิเนเซ่ ที่ร่วมกันรั้งตำแหน่งหัวตารางกลุ่ม A จากแต้มที่เท่ากันก่อนจะเอาชนะมาได้ 2-0

1974 – จัลโล่บลู สามารถทำลายสถิติเดิมจากผลงานที่ดีที่สุดเมื่อ 19 ปีก่อนด้วยการพาตัวเองจบในอันดับที่ 5 ของ เซเรีย บี 1973-4

1975 – แต่แล้วในปีถัดมาพวกเขาก็ทำฟอร์มสะดุดและร่วงตกชั้นลงสู่ เซเรีย ซี อีกครั้งจากการรั้งอยู่ท้ายตาราง

1979 – ภายในซีซั่นแรกหลังการปรับโครงสร้างลีกระดับดิวิชั่น 3 ใหม่ภายใต้ชื่อ เซเรีย ซี 1 ทีมที่อยู่ภายใต้การดูแลของ เซซาเร่ มัลดินี่ ก็สามารถเลื่อนชั้นกลับสู่ เซเรีย บี ได้สำเร็จ หลังลงเตะเกมเพลย์ออฟกับ เทรียสติน่า และเอาชนะไปได้ 3-1 จากผลงาน 2 ประตูของ คาร์โล อันเชล็อตติ มิดฟิลด์ดาวรุ่งที่ย้ายไปอยู่กับ โรม่า ในช่วงซัมเมอร์

1980 – แต่พวกเขาก็กลับขึ้นมาอยู่ได้เพียงแค่ปีเดียว สุดท้ายก็ตกชั้นลงไปอีกครั้งหลังจบฤดูกาลด้วยอันดับรองบ๊วย

1984 – ต้องรอจนกระทั่งจบฤดูกาล 1983-84 ที่ ปาร์ม่า จะสามารถหวนคืนสู่ เซเรีย บี ได้สำเร็จ หลังเก็บชัยชนะได้ในนัดปิดฤดูกาลจนเข้าป้ายเป็นที่ 1 ของ เซเรีย ซี 1 กลุ่ม A

1985 – และก็อีกเช่นเคยเมื่อทีมใช้เวลาอยู่ใน เซเรีย บี เพียงช่วงระยะเวลาแค่ปีเดียวก่อนจะตกชั้นลงไปอีก

1986 – พวกเขายังรักษามาตรฐานการเป็นทีมที่ขยับขึ้นๆลงๆอยู่ระหว่าง เซเรีย ซี 1 และ เซเรีย บี ด้วยการคว้าแชมป์กลุ่ม A ได้ภายในซีซั่นถัดมาจากฝีมือการนำทัพของ อาร์ริโก้ ซาคคี่ แต่ก็ต้องรอจนถึงนัดสุดท้ายของฤดูกาลที่ทีมเอาชนะ ซานเรโม ได้ 2-0 โดยได้ประตูขึ้นนำจาก อเลสซานโดร เมลลี่ หัวหอกเด็กปั้นดีกรีทีมชาติอิตาลี ที่อยู่กับทีมรวมกัน 2 ช่วงเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

1990 – หลังการเข้ามาของ เนวิโอ สกาล่า ผู้ที่หันมาปรับเปลี่ยนแผนการเล่น 3-5-2 ให้กับ ปาร์ม่า ในการออกสตาร์ทฤดูกาล 1989-90 ก็ช่วยนำพาความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ด้วยการช่วยให้ทีมได้อันดับที่ 4 และคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นสู่ เซเรีย อา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังสามารถการันตีตำแหน่งให้ตนเองได้ในการลงเล่นนัดรองสุดท้ายที่เป็นดาร์บี้แมตช์กับ เรจจาน่า ก่อนจะเอาชนะไปได้ 2-0 ซึ่งภายหลังจากการโปรโมท คาลิสโต้ ทานซี่ เจ้าของธุรกิจนมและเครื่องดื่มแบรนด์ ปาร์มาลัต ก็ได้เข้ามากว้านซื้อหุ้นจนถือครองกรรมสิทธิ์ใหญ่อยู่ที่ 45% พร้อมแต่งตั้ง จอร์โจ้ เปดราเนสคี่ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานคนใหม่แทนที่ แอร์เนสโต้ เซเรซิน ที่พึ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับเงินอัดฉีดเพื่อการเตรียมตัวลงเล่นใน เซเรีย อา ที่ทำให้ สกาล่า หันไปดึงตัว ลุยจิ อปอลโลนี่ และ ลอเรนโซ่ มิน็อตติ เข้ามาเสริมแนวรับ รวมถึงการเซ็นสัญญากับ โทมัส โบรลิน, เคลาดิโอ ทัฟฟาเรล และ จอร์จส์ กรุน 3 สตาร์ที่สร้างชื่อใน ฟุตบอลโลก 1990

1991 – จัลโล่บลู ประเดิมนัดแรกใน เซเรีย อา ด้วยการพ่ายคาบ้านให้กับ ยูเวนตุส 2-1 ก่อนจะมาคว้าชัยชนะนัดแรกได้จากการเปิดรัง เอนนิโอ ตาร์ดินี่ เฉือนเอาชนะ นาโปลี ที่นำทีมโดย ดีเอโก้ มาราโดน่า ไปได้ 1-0 จนกระทั่งจบฤดูกาลเปิดตัวในลีกสูงสุดด้วยการรั้งอันดับที่ 6 และคว้าสิทธิ์ไปลงเตะใน ยูฟ่า ฤดูกาลหน้า

1992 – แม้พวกเขาจะเสริมทัพสำหรับฤดูกาลใหม่ด้วยการคว้าตัว อันโตนิโอ เบนาร์ริโว และ อัลแบร์โต้ ดิ คิอาร่า 2 ฟูลแบ็คที่ก้าวขึ้นไปจนถึงขั้นติดทีมชาติอิตาลีในเวลาต่อมา แต่ทีมก็จอดป้ายใน ยูฟ่า คัพ เพียงแค่รอบแรกหลังพ่ายให้กับ ซีเอสเคเอ โซเฟีย ด้วย กฎอเวย์โกล จากผลเสมอกัน 1-1 อย่างไรก็ตามพวกเขายังคงรักษาฟอร์มในลีกได้ด้วยการจบฤดูกาล 1991-92 ในอันดับที่ 6 และยังสามารถคว้าโทรฟี่ระดับเมเจอร์ใบแรกได้สำเร็จจากการโคจรไปพบกับ ยูเวนตุส ในรอบชิงชนะเลิศ โค้ปปา อิตาเลีย ที่แม้จะพ่ายไปก่อนในนัดแรกที่ ตูริน 1-0 แต่ก็กลับมาเอาชนะในบ้านได้ 2-0 จากการทำประตูของ อเลสซานโดร เมลลี่ และ มาร์โก ออซิโอ

1993 – ปาร์ม่า เดินหน้าอัพเกรดขุมกำลังต่อด้วยการคว้าตัว ฟาอุสติโน่ อัสปริย่า หัวหอกชาวโคลอมเบีย ก่อนที่ทีมจะประสบความสำเร็จในเวทียุโรปของ ยูฟ่า เป็นครั้งแรกเมื่อก้าวลงสู่สนาม เวมบลีย์ เพื่อพบกับ อันท์เวิร์ป ในนัดชิงชนะเลิศ คัพ วินเนอร์ส คัพ ก่อนที่ มิน็อตติ กองหลังกัปตันทีมจะช่วยให้ทีมขึ้นนำไปอย่างรวดเร็วด้วยลูกวอลเล่ย์จากจังหวะเตะมุม จนกระทั่ง เมลลี่ มาโขกประตูที่สอง และได้ลูกยิงปิดกล่องของ สเตฟาโน่ กวอกี้ ในช่วงท้ายเกมที่ทำให้พวกเขาเอาชนะคู่แข่งจาก เบลเยี่ยม ไปได้ 3-1 ภายในฤดูกาลนั้นพวกเขายังขยับขึ้นมาจนจบในอันดับที่ 3

ปาร์ม่า ปี1994

1994 – ระหว่างฤดูกาล 1993-94 ที่ดึงนักเตะหน้าใหม่เข้ามาทั้ง เนสเตอร์ เซนชินี่, มัสซิโม่ คริปป้า และ จานฟรังโก้ โซล่า ทีมก็สามารถเอาชนะ เอซี มิลาน ได้ในรายการ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ คัพ หลังจากพ่ายคาบ้านในนัดแรก 1-0 แต่ก็กลับไปแซงนำเป็น 2-0 ได้ในช่วงต่อเวลาพิเศษที่ ซานซีโร่ นอกจากนี้พวกเขายังได้ผ่านเข้าไปป้องกันแชมป์ คัพ วินเนอร์ส คัพ แต่ก็พ่ายให้กับ อาร์เซน่อล 1-0 ในนัดชิงที่ พาร์เค่น สเตเดี้ยม กรุงโคเปนเฮเก้น

1995 – ปาร์ม่า ออกสตาร์ทฤดูกาลใหม่ด้วยการเซ็นสัญญากับ ดิโน่ บาจโจ้ และ แฟร์นานโด คูโต้ โดยที่ไฮไลท์ของซีซั่นนี้คือการโคจรกลับมาพบกับ ยูเวนตุส ในรอบชิงชนะเลิศที่ต้องดวลกัน 2 นัด เหมือนเมื่อปี 1992 หากแต่คราวนี้ทั้งคู่มาเจอกันในรายการที่ใหญ่กว่าอย่าง ยูฟ่า คัพ โดยในเกมแรก ดิโน่ บาจโจ้ ทำประตูโทนได้ในบ้าน ก่อนจะกลับไปลงเตะกันในเลกสองที่ ซาน ซีโร่ หลัง ทีมม้าลาย มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สนามเหย้าของตนเอง และแม้ จานลูก้า วิอัลลี่ จะยิงประตูให้ ยูเว่ ขึ้นนำไปก่อน แต่ก็เป็น ดิโน่ บาจโจ้ เจ้าเก่าที่ตามตีเสมอได้จนกลายเป็นชัยชนะจากผลรวม 2-1 อย่างไรก็ตาม ยูเวนตุส ก็ตามมาเอาคืนได้ในรอบชิงชนะเลิศ โคปปา อิตาเลีย ที่เป็นฝ่ายเอาชนะ ปาร์ม่า ไปด้วยสกอร์รวม 3-0

1996 – แม้จะทีมจะเสริมทัพด้วยการปิดดีล ฮริสโต้ สตอยช์คอฟ และ ฟิลิปโป้ อินซากี้ พร้อมกับการแจ้งเกิดของ จานลุยจิ บุฟฟ่อน ผู้รักษาประตูดาวรุ่งที่ต่อยอดจนกลายเป็นตำนานของประเทศ แต่มันก็กลายเป็นซีซั่นที่พวกเขาจบด้วยมือเปล่า และหลังจากการรับใช้ทีมมายาวนานร่วม 7 ปีพร้อมฝากผลงานไว้กับ 4 ถ้วยรางวัลใหญ่ เนวิโอ สกาล่า ผู้ที่ยังครองสถิติคุมทีม ปาร์ม่า ได้ยาวนานที่สุดก็ตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่ง โดยได้ คาร์โล อันเชล็อตติ เข้ามาทำหน้าที่แทน ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับผู้บริหารเช่นกัน เมื่อ สเตฟาโน่ ทานซี่ บุตรชายของ คาลิสโต้ เจ้าของทีม ถูกผลักดันให้ขึ้นไปรับตำแหน่งประธานสโมสรแทนที่ จอร์โจ้ เปดราเนสคี่

1997 – ภายในช่วงซัมเมอร์ทั้ง อันเชล็อตติ และ ทานซี่ ต่างก็พากันยกเครื่องทีมเสียใหม่ด้วยการปล่อยตัว สตอยช์คอฟ, อินซากี้, คูโต้ และ ดิ คิอาร่า และหันไปเซ็นสัญญากับ เอร์นาน เครสโป, เอ็นริโก้ เคียซ่า และ เซ มาเรีย นอกจากนี้ในช่วงกลางฤดูกาลทีมยังจำใจปล่อยตัว จานฟรังโก้ โซล่า ดาวยิงเจ้าของสถิติ 49 ประตูจาก 102 เกมในลีกให้กับ เชลซี ด้วยราคา 4.5 ล้านปอนด์จากความไม่ลงตัวในเรื่องของแทคติก ที่แม้แต่ อันเชล็อตติ ยังเคยออกมาแสดงความรู้สึกเสียใจต่อการตัดสินใจครั้งนี้ จนกระทั่งทีมสามารถทำอันดับได้ดีที่สุดในประวัติศาสตร์หลังเข้าป้ายในอันดับที่ 2 โดยมีแต้มตามหลัง ยูเวนตุส เพียงแค่ 2 คะแนน ท่ามกลางคำครหาที่ทีมแชมป์ได้ลูกจุดโทษของขวัญในเกมที่เสมอกับพวกเขา 1-1 ที่ สตาดิโอ เดลเล่ อัลปิ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 1997

1998 – จากการได้ตำแหน่งรองแชมป์ในซีซั่นที่ผ่านมา จัลโล่บลู เลยได้โอกาสลงเตะใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นครั้งแรก โดยต้องไปเริ่มต้นจากเกมรอบคัดเลือกรอบที่ 2 ที่สามารถผ่าน วิดเซฟ ลอดซ์ มาได้ด้วยสกอร์รวม 7-1 ก่อนจะไปจอดป้ายอยู่เพียงแค่รอบแบ่งกลุ่มจากการเป็นที่สองของกลุ่ม A รองจาก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่มี เนวิโอ สกาล่า คุมทัพอยู่ ในขณะที่ผลงานใน เซเรีย อา ก็ทำได้เพียงจบในอันดับที่ 5 จนทำให้ อันเชล็อตติ ถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังสิ้นสุดฤดูกาลนั้น ก่อนจะแต่งตั้ง อัลแบร์โต้ มาเลซานี่ เข้ามารับหน้าที่ต่อ

1999 – งานแรกของ มาเลซานี่ ในช่วงซัมเมอร์ก็คือการปิดดีล ฮวน เซบาสเตียน เวรอน มาจาก ซามพ์โดเรีย ในราคา 15 ล้านปอนด์ และแม้ภายในซีซั่นเปิดตัวของเขาจะทำได้เพียงพาทีมจบในอันดับที่ 4 แต่ก็ยังถือเป็นปีที่ ปาร์ม่า ประสบความสำเร็จมากที่สุด เริ่มจากผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ โค้ปปา อิตาเลีย และเสมอกับ ฟิออเรนติน่า ในบ้าน 1-1 โดย เอร์นาน เครสโป ทำประตูให้ทีมขึ้นนำไปก่อน จนทีมเยือนมาตามตีเสมอได้จากฝีเท้าของ กาเบรียล บาติสตูต้า ก่อนจะบุกไปยันเสมอ 2-2 ได้ที่ ฟลอเรนซ์ โดยที่ เครสโป ก็ยังเป็นคนยิงประตูเปิดหัวในนัดนี้ จนทำให้ทีมเป็นฝ่ายคว้าแชมป์ อิตาเลียน คัพ สมัยที่ 2 ด้วยกฎอเวย์โกล ก่อนจะมาเผชิญหน้ากับ โอลิมปิก มาร์กเซย ในนัดชิง ยูฟ่า คัพ ที่ ลุซนิกิ สเตเดี้ยม กรุงมอสโก และสามารถถล่มคู่แข่งไปได้ 3-0 นอกจากนี้ก็ยังมาเอาชนะ เอซี มิลาน 2-1 ในเกม ซูเปอร์โคปปา อิตาเลียนา ในช่วงเปิดฤดูกาลถัดมา

2000 – หลังใช้งาน เวรอน ได้เพียงซีซั่นเดียว ทีมก็จัดการขายต่อสตาร์เลือดฟ้าขาวไปให้ ลาซิโอ้ ด้วยค่าตัว 18.1 ล้านปอนด์ และทดแทนด้วยการดึงตัว อาเรียล ออร์เตก้า เข้ามาในราคา 9.4 ล้านปอนด์ ก่อนจะจบฤดูกาล 1999-2000 ด้วยอันดับที่ 5

2001 – เกิดดีลสนั่นวงการขึ้นในช่วงซัมเมอร์เมื่อพวกเขายอมปล่อยตัว เอร์นาน เครสโป ไปให้กับ ลาซิโอ้ ในดีลมูลค่า 35 ล้านปอนด์ที่กลายเป็นสถิติโลกในเวลานั้น โดย อินทรีฟ้าขาว ยอมจ่ายเงินค่าตัวศูนย์หน้าสุดฮอท 16 ล้านปอนด์และบวกด้วย 2 นักเตะอย่าง มาเทียส อัลเมย์ด้า และ แซร์โจ้ คอนไซเซา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการย้ายทีม ก่อนที่ ปาร์ม่า จะทดแทนในแนวรุกด้วยการหันไปเซ็นสัญญากับ ซาโว มิโลเซวิช โดยในระหว่างซีซั่น มาเลซานี่ ถูกปลดจากตำแหน่งและได้ อาร์ริโก้ ซาคคี่ กลับมาคุมทีมเป็นรอบที่ 2 แต่อยู่ได้ไม่นานเขาก็ลาออกไปเนื่องจากผลงานของทีมยังไม่กระเตื้องขึ้น จนกระทั่ง เรนโซ่ อูลิวิเอรี่ เข้ามารับงานต่อและช่วยกอบกู้ฟอร์มจนพาทีมจบฤดูกาลนั้นด้วยอันดับที่ 4 ในขณะที่พวกเขาก็พลาดโอกาสคว้าแชมป์ โค้ปปา อิตาเลีย สมัยที่ 3 ด้วยการพ่ายให้กับ ฟิออเรนติน่า ในรอบชิงด้วยผลรวม 2-1

2002 – ทีมสูญเสียขุมกำลังหลักออกไปอีก หลังยอมปล่อยตัว จานลุยจิ บุฟฟ่อน และ ลิลิยอง ตูราม ไปให้กับ ยูเวนตุส ในราคารวมกันราว 93 ล้านยูโร ลำพังเฉพาะค่าตัวของ บุฟฟ่อน ก็กลายเป็นสถิติโลกของผู้รักษาประตูไปอีกนานร่วม 17 ปี ซึ่งก็ส่งผลให้พวกเขาออกสตาร์ทฤดูกาล 2001-02 ได้อย่างย่ำแย่โดยเก็บชัยชนะได้เพียงแค่ 2 ครั้งจาก 15 เกมแรกเท่านั้น จนทำให้ อูลิวิเอรี่ ถูกปลดออกไปในช่วงเดือนตุลาคม ก่อนจะได้ตัว ดาเนี่ยล พาสซาเรลล่า เข้ามาเสียบแทนแต่ก็อยู่ได้แค่ 2 เดือน ยังดีที่ ปิเอโตร คาร์มินญานี่ ที่ขยับขึ้นมาจากตำแหน่งผู้ช่วยจะเข้ามากอบกู้สถานการณ์และพาทีมจบฤดูกาลได้ในอันดับที่ 10 ยิ่งไปกว่านั้นเขายังช่วยสร้างความสำเร็จด้วยการเผชิญหน้ากับ ยูเวนตุส ในนัดชิงชนะเลิศ โค้ปปา อิตาเลีย ที่แม้ ยูเว่ จะออกนำไปก่อน 2-0 แต่ก็ได้ประตูสำคัญในนาทีสุดท้ายของ ฮิเดโตชิ นากาตะ ที่ทำให้เกมเลกแรกที่ ตูริน จบลงด้วยสกอร์ 2-1 ก่อนที่ จูเนียร์ แบ็คซ้ายชาวบราซิล จะยิงประตูชัย 1-0 ในถิ่น เอนนิโอ ตาร์ดินี่ ตั้งแต่ต้นเกมที่ทำให้ จัลโล่บลู คว้าแชมป์บอลถ้วยเป็นสมัยที่ 3 ได้สำเร็จ

2003 – ผลงานนัดแรกของ เชซาเร่ ปรันเดลลี่ ที่พึ่งก้าวเข้ามารับตำแหน่งคือการพาทีมพ่ายให้กับ ยูเวนตุส ในรายการ ซูเปอร์โค้ปปา อิตาเลียนา ที่ อเลสซานโดร เดล ปิเอโร่ เหมาคนเดียว 2 เม็ดให้ทีมแชมป์ เซเรีย อา เอาชนะไปได้ 2-1 แต่เขาก็ยังช่วยให้ทีมที่พึ่งปล่อยสตาร์คนสำคัญทั้ง ฟาบิโอ คันนาวาโร่ ไปให้ อินเตอร์ มิลาน, มาร์โก ดิ วาโญ่ ให้กับ ยูเวนตุส และ โยฮัน มิกูด์ ให้กับ แวร์เดอร์ เบรเมน ในช่วงซัมเมอร์ ทำผลงานจนจบในอันดับที่ 5 ได้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณขุมพลังในแนวรุกที่เหลืออย่าง อาเดรียโน่ และ อาเดรียน มูตู รวมถึงฟอร์มของ ดานิเอเล่ โบเนร่า และ มัตเตโอ แฟร์รารี่ ที่ช่วยกันดูแลในแผงหลัง

2004 – ลางร้ายของทีมเริ่มก่อตัวชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อ ปาร์มาลัต องค์กรสำคัญที่คอยเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับพวกเขาเริ่มเข้าสู่สภาวะวิกฤติ หลัง คาลิสโต้ ทานซี่ เจ้าของกิจการที่ยังดำรงตำแหน่งประธานสโมสรถูกจับในข้อหายักยอกถ่ายเทบัญชี จนทำให้ทีมต้องพยายามหาทางออกด้วยการขาย มูตู ไปให้กับ เชลซี ในช่วงซัมเมอร์ด้วยราคา 15.8 ล้านปอนด์ นอกจากนี้ทั้ง อาเดรียโน่ และ นากาตะ ก็ถูกปล่อยตัวออกไปให้กับ อินเตอร์ มิลาน และ โบโลญญ่า ระหว่างฤดูกาล ยังดีที่ อัลแบร์โต้ จิลาร์ดิโน่ สามารถผงาดขึ้นมาเป็นตัวความหวังให้กับทีมด้วยผลงาน 23 ประตูในลีกที่เป็นรอง อังเดร เชฟเชนโก้ ดาวซัลโวประจำซีซั่นนั้นไปเพียงแค่ลูกเดียว พร้อมกับช่วยให้ทีมยังคงจบในอันดับที่ 5 ได้

หลังการจากไปของ มัตเตโอ แฟร์รารี่

2005 – หลังการจากไปของ มัตเตโอ แฟร์รารี่ และ มัตเตโอ บีกรี ที่ย้ายไปอยู่กับ โรม่า พร้อมกับ ปรันเดลลี่ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ผลงานของ จัลโล่บลู จะค่อยๆถดถอยลงทุกขณะ จนทำให้ ซิลวิโอ บัลดินี่ ถูกปลดในช่วงเดือนธันวาคม และก็เป็น ปิเอโตร คาร์มินญานี่ ที่ก้าวขึ้นมารักษาการณ์แทน แม้ จิลาร์ดิโน่ จะยังรักษาฟอร์มอันร้อนแรงด้วยการกระหน่ำไปถึง 23 ประตูตลอดทั้งซีซั่น แต่ทีมก็ยังคงจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 17 จนต้องไปลุ้นหนีตายด้วยการลงเตะเกมเพลย์ออฟกับ โบโลญญ่า ก่อนจะเฉือนเอาชนะไปแบบหวุดหวิดจากผลรวม 2-1

2006 – แม้ ปาร์ม่า จะอยู่คงมองหาเจ้าของทีมคนใหม่จากการปักป้ายขายตัวเองมาตั้งแต่ช่วงมกราคม 2005 แต่ เอ็นริโก้ บอนดี ที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานคนใหม่ก็ยังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปลดหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัว อัลแบร์โต้ จิลาร์ดิโน่ หัวหอกตัวเก่งที่ซัดไป 50 ประตูจาก 95 นัดไปให้กับ เอซี มิลาน ในราคา 25 ล้านยูโร และ เซบาสเตียน เฟรย์ นายทวารจอมหนึบชาวฝรั่งเศส ไปให้ ฟิออเรนติน่า อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังประคับประคองตัวเองจนจบในอันดับที่ 10 ก่อนที่คดีอื้อฉาว กัลโช่โปลี จะได้บทสรุปที่ทำให้อันดับของทีมขยับขึ้นมาสู่ที่ 7 จนคว้าโควต้าไปลงเตะใน ยูฟ่า คัพ ฤดูกาลหน้าได้

2007 – ดานิเอเล่ โบเนร่า คือสตาร์คนล่าสุดที่ถูกปล่อยออกไปในช่วงซัมเมอร์ จนกระทั่งถึงช่วงปลายเดือนมกราคม 2007 ตอมมาโซ่ กีราร์ดี้ ก็กลายเป็นผู้ที่ชนะในการประมูลและก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของทีมคนใหม่ของ ปาร์ม่า หลัง ลอเรนโซ่ ซานซ์ อดีตผอ. เรอัล มาดริด ไม่ยอมตกลงกับข้อเรียกร้อง 27 ล้านยูโรในปีที่ผ่านมา กีราร์ดี้ นักธุรกิจหนุ่มวัย 31 ปีผู้ที่ยังเป็นเจ้าของสโมสร เอซี คาร์เปเนโดโล ใน เซเรีย ซี 2 ก็ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรเองอีกด้วย และกลายเป็นจุดสิ้นสุดของการถูกควบคุมบัญชีของสโมสรตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และด้วยการเข้ามาคุมทีมของ เคลาดิโอ รานิเอรี่ แทนที่ สเตฟาโน่ ปิโอลี่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2007 ก็ค่อยทำให้ผลงานของพวกเขาดีขึ้นจนอยู่รอดปลอดภัยใน เซเรีย อา ต่อไปจากการจบในอันดับที่ 12

2008 – หลังใช้เวลาสร้างชื่ออยู่ใน เซเรีย อา นานถึง 18 ปี ในที่สุด จัลโล่บลู ที่อยู่ในสภาพทางการเงินอันย่ำแย่ก็หนีการตกชั้นไปไม่พ้น แม้พวกเขาจะพยายามดิ้นรนด้วยการปรับเปลี่ยนผจก.ทีมระหว่างฤดูกาลไปถึง 3 คน ทั้ง โดเมนิโก้ ดิ คาร์โล, เอคตอร์ กูเปร์ และ อันเดรีย มานโซ่ และยังตอกย้ำด้วยการพ่ายคาบ้านในนัดปิดฤดูกาล 2007-08 ต่อทีมแชมป์ อินเตอร์ มิลาน 2-0 จนต้องกลับลงไปเล่นใน เซเรีย บี ซีซั่นหน้า

2009 – พวกเขาเริ่มต้นในลีกรองได้ไม่ดีนักภายใต้การคุมทีมของ ลูก้า คานญี่ ที่ถูกปลดหลังจากผ่านพ้นไปเพียงแค่ 6 นัดแรก จนได้ตัว ฟรานเชสโก้ กุยโดลิน ที่เข้ามาช่วยให้ทีมทะยานขึ้นมารั้งตำแหน่งจ่าฝูงร่วมในช่วงครึ่งทาง ก่อนที่ อัลแบร์โต้ ปาลอสคี่ และ คริสเตียโน่ ลูคาเรลลี่ จะช่วยกันถล่มประตูและพาทีมเดินหน้าต่อจนคว้าอันดับที่ 2 ได้ในที่สุด พร้อมสร้างสถิติไร้พ่ายในบ้านตลอดทั้งฤดูกาลและเลื่อนชั้นกลับสู่ เซเรีย อา โดยอัตโนมัติพร้อม บารี่ ทีมแชมป์

2010 – ทีมกลับมาออกสตาร์ทใน เซเรีย อา ได้อย่างน่าประทับใจและรั้งอยู่ในอันดับที่ 4 หลังจบครึ่งฤดูกาล ในขณะที่ ดานิเอเล่ กัลลอปป้า ก็กลายเป็นผู้เล่นคนแรกของ ปาร์ม่า ที่ติดทีมชาติอิตาลีในรอบกว่า 3 ปี อย่างไรก็ตามพวกเขาทำผลงานดร็อปลงในช่วงครึ่งหลัง แม้จะมีการดึงตัว เอร์นาน เครสโป อดีตดาวยิงขวัญใจของทีมกลับมาอีกครั้งในช่วงปีใหม่ จนกระทั่งมาจบฤดูกาล 2009-10 ด้วยอันดับที่ 8 และพลาดสิทธิ์ไปลงเล่นใน ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก แบบฉิวเฉียด

2011 – ปาร์ม่า ออกสตาร์ทฤดูกาลใหม่ได้อย่างย่ำแย่และตกไปอยู่ในอันดับที่ 16 ตอนหลังวันคริสมาสต์ จนทำให้ ปาสกวาเล่ มาริโน่ ที่เข้ามารับตำแหน่งกุนซือเมื่อช่วงซัมเมอร์ถูกปลดออกไปในช่วงต้นเดือนเมษายน แต่แล้วภายในระยะเวลาสั้นๆที่เหลือ ฟรังโก้ โคลอมบา ที่ถูกดึงเข้ามาเสียบแทนก็ช่วยพลิกวิกฤติให้ทีมจากการเดินหน้าเก็บชัยชนะ 4 ใน 7 เกมสุดท้าย และสามารถการันตีการอยู่รอดปลอดภัยในนัดรองสุดท้ายด้วยการเอาชนะ ยูเวนตุส ในบ้าน 1-0 ก่อนจะจบฤดูกาล 2010-11 ด้วยอันดับที่ 12

2012 – หลังออกสตาร์ทฤดูกาล 2011-12 ด้วยฟอร์มที่ลุ่มๆดอนๆ ในที่สุด โคลอมบา ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนมกราคม 2012 เมื่อทีมมีแต้มอยู่เหนือโซนตกชั้นไม่ไกลนัก จนกระทั่งการก้าวเข้ามาของ โรแบร์โต้ โดนาโดนี่ ที่ช่วยให้ทีมค่อยๆทำผลงานดีขึ้นก่อนจะโชว์ฟอร์มหรูด้วยการเก็บชัยชนะรวดใน 7 นัดสุดท้ายจนกลับมาเข้าป้ายในอันดับที่ 8

2015 – ตลอด 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา โดนาโดนี่ สามารถพาทีมจบในอันดับที่ 10 และ 6 ตามลำดับ แต่แล้วภายในฤดูกาล 2014-15 ที่พวกเขาได้สิทธิ์กลับมาลงเล่นในเวทียุโรปเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 ในรายการ ยูโรปา ลีก แต่จากสภาพถังแตกของทีมที่ปิดไม่มิดอีกต่อไปจนไม่สามารถชำระภาษีค่าเหนื่อยของนักเตะทันเวลา ซึ่งขัดต่อกฎของ ยูฟ่า ก็ทำให้ทีมถูกลงโทษตัดแต้มเข้าไปอีก จนในที่สุด ปาร์ม่า ก็ตกอยู่ในสภาพล้มละลายภายในเดือนมีนาคม 2015 จากภาวะหนี้สินรวม 218 ล้านยูโร ที่ประกอบไปด้วยค่าแรงที่ยังค้างจ่ายอยู่ถึง 63 ล้านยูโร แต่ยังคงได้รับอนุญาตให้ลงเตะต่อไปจนจบฤดูกาลก่อนจะถูกปรับให้ตกชั้นลงไปด้วยการเป็นทีมอันดับสุดท้าย อย่างไรก็ตามสโมสรก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ในเดือนกรกฎาคมปีนั้นภายใต้ชื่อ Parma Calcio 1913 ที่ดำเนินการสอดคล้องกับข้อกำหนดที่ 52 ของ สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี นำโดย เนวิโอ สกาล่า อดีตเฮดโค้ชในตำนานของทีมที่ดำรงตำแหน่งประธานสโมสร โดยที่ ลุยจิ อปอลโลนี่ อดีตนักเตะก็ถูกดึงเข้ามาทำหน้าที่คุมทีม

2016 – ภายในฤดูกาลแรกหลังอวตารมาเกิดใหม่ใน เซเรีย ดี ทีมสามารถขายตั๋วปีได้เป็นจำนวนสูงถึง 9,000 ใบจนทำลายสถิติดั้งเดิมในระดับดิวิชั่น 4 ไปแบบเท่าตัว จากนั้น ปาร์ม่า ก็เดินหน้าโชว์ฟอร์มสดและสร้างสถิติไร้พ่ายจากการชนะ 28 และเสมอ 10 จนเลื่อนชั้นขึ้นสู่ ลีกา โปร ได้สำเร็จ

2017 – จัลโล่บลู ทำผลงานในซีซั่น 2016-17 ด้วยการจบในอันดับที่ 2 ของกลุ่ม B รองจาก เวเนเซีย และได้สิทธิ์ไปเตะเพลย์ออฟที่ต้องลงสนามดวลแข้งอีก 6 นัดเพื่อโอกาสเลื่อนชั้น จนสามารถตีตั๋วขึ้นไปเล่นใน เซเรีย บี ได้สำเร็จหลังเอาชนะ อเลสซานเดรีย 2-0 ในนัดชิงดำ

2018 – และแล้ว ปาร์ม่า ก็สร้างสถิติการเป็นทีมแรกที่สามารถเลื่อนชั้นได้ 3 ปีซ้อน หลังเข้าป้ายเป็นที่ 2 รองจาก เอ็มโปลี เพียงแค่ 3 คะแนน โดยที่พวกเขามีแต้มเท่ากับ โฟรซิโนเน่ แต่มีผลงานเฮด-ทู-เฮดที่ดีกว่า จนทำให้ทีมสามารถกลับคืนสู่ เซเรีย อา ได้สำเร็จภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปีหลังตกอยู่ในสถานะล้มละลาย

ปาร์ม่า ก็สร้างสถิติการเป็นทีมแรก

kr777